ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 24: นิราศภูเขาทอง

      นิราศภูเขาทอง เป็นนิราศที่เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ผู้ได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCOให้เป็นกวีเอกของโลก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ซึ่งในนิราศภูเขาทองสุนทรภู่ ได้บรรยายให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางที่เปรียบเสมือนแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งของเส้นทางในนิราศภูเขาทอง บรรยายถึงสถานที่ในเขตกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีที่ยิ่งใหญ่ เส้นทางการเดินทาง ผ่านสถานที่ต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยาที่สุนทรภู่กล่าวถึงไว้ ได้แก่ ตำบลกรุงเก่า ท่าหน้าจวน วัดหน้าพระเมรุ และเจดีย์ภูเขาทอง ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีสถานที่เหมาะสม สำหรับการท่องเที่ยว และได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลก ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ เปรียบเสมือนแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว ที่สามารถเล่าความเป็นมาจากอดีต สู่ปัจจุบัน ที่แม้จะมีความเจริญรอบด้านเข้ามา สถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ในฐานะเมืองมรดกโลกเอาไว้ได้

                                       โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด                     ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว
                                       ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ                          ถึง เกาะใหญ่ราชคราม หอยามเย็น  
                                       ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง                 ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ
                                       เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น                       เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา

       “เกาะใหญ่” เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี บริเวณนี้  มีคลองเกาะใหญ่ ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก ซึ่งตรงข้ามกับวัดโพธิ์แตงเหนือ วัดโพธิ์แตงใต้และมีวัดท้ายเกาะใหญ่ ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ส่วน “ราชคราม” เป็นชื่อเดิมของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นตำบลราชคราม อำเภอบางไทร ตั้งอยู่ตรงที่ร่วมของแม่น้ำน้อย (แม่น้ำสีกุก) กับแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ตั้งเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอราชคราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งอยู่ทางฝั่งขวา ของลำน้ำบางไทร (แม่น้ำน้อย) ที่ตำบลราชครามเมื่อ พ.ศ.2467 ถึง พ.ศ.2481 กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทรและเป็นชื่อที่เรียกกันต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

และเมื่อเดินทางถึง “ตำบลกรุงเก่า” ซึ่งในปัจจุบัน คือ เขตเกาะเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสุนทรภู่ได้บรรยายถึงตำบลกรุงเก่า ไว้ในนิราศภูเขาทอง ดังนี้

“พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน ถึงตำบล กรุงเก่า ยิ่งเศร้าใจ”

          ตำบลกรุงเก่าในนิราศภูเขาทอง หมายถึง กรุงศรีอยุธยา คำว่า “กรุงเก่า” เป็นชื่อเดิมของอำเภอ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า อำเภอรอบกรุง ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนชื่อจังหวัด และมณฑล จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอรอบกรุง เป็น อำเภอกรุงเก่า และต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอพระนครศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน

จากนั้นเมื่อสุนทรภู่เดินทางมาถึง “ท่าหน้าจวน” ซึ่งท่าหน้าจวน คือ จวนผู้รักษากรุงเก่าในสมัยนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในพระราชวังจันทรเกษม โดยสุนทรภู่ได้บรรยายไว้

                                           มาถึงท่าหน้าจวน จอมผู้รั้ง                                คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
                                           จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย                   ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
                                           แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก                       อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
                                           เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร                           จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

         พระราชวังจันทรเกษม หรือที่เรียกกันว่า วังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับ ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เวลาเสด็จจากเมืองพิษณุโลก เพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129 นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับ ของพระมหากษัตริย์ และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ภายหลังเสียกรุงได้ถูกทิ้งร้างไป จนมีการบูรณะปรับปรุงขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นที่รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่า และบริเวณ ใกล้เคียง   ในนามอยุธยาพิพิธภัณฑ์ จนถึง พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
    
          หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยามาอีกราว 63 ปี สุนทรภู่ได้มานมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง เมื่อปีขาล เดือน 11 แรม 8 ค่ำ พ.ศ.2373 ได้เขียนนิราศภูบาทองบรรยายภาพวัดและพระเจดีย์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ        เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง               ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น      เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได         คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด             ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน         เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น             ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม        ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย      ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์      แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก..”

Scroll to Top