ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 5: เจดีย์ภูเขาทอง (เจดีย์ประธาน)
“วัดภูเขาทอง” ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนโคกซึ่งพื้นที่โดยรอบน้ำท่วมถึง อดีตเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ระหว่างกองทัพกรุงศรีอยุธยา กับกองทัพพม่า ซึ่งในคราวก่อนเสียกรุงครั้งแรก ได้มีการขุดคลองมหานาค เพื่อสะดวกในการคมนาคมระหว่างพระนครกับวัดภูเขาทอง เป็นวัดที่สมเด็จพระราเมศวรสร้างขึ้น ตามประวัติกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1930 (สมัยอยุธยาตอนต้น) แต่ไม่มีรายละเอียดถึงสิ่งก่อสร้างสมัยนั้น กิตติ โล่เพชรรัตน์ (2561: 141-143)
เจดีย์ประธาน เจดีย์ภูเขาทอง ก่ออิฐถือปูน องค์เจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 80 เมตร ทำเป็นฐานประทักษิณช้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้นสูงจากพื้นดินถึงยอดเจดีย์ 64 เมตร แต่ละชั้นของฐานประทักษิณมีรายละเอียดดังนี้
ฐานประทักษิณชั้นที่ 1 กว้างด้านละ80 เมตร ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นฐานก่อตรง ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกเป็นฐานก่อเหลียมย่อเก็จ (เพิ่มมุม) ประกอบด้วยฐานเขียงเหนือขึ้นไปเป็นบัวคว่ำ คั่นบัวคว่ำกับท้องไม้ ด้วยลวดบัวสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นจากพื้นถึงลานประทักษิณ ขั้นที่ 1 ทุกด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกไม่มีบันได
ฐานประทักษิณชั้นที่ 2 กว้างด้านละ63 เมตรทุกด้านเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ (เพิ่มมุม)ฐานเริ่มต้นจากระเบียงบนขอบฐานประทักษิณ ทุกมุมมีเสาหัวเม็ดยึดแนวระเบียงไว้ ชุดฐานด้านในระเบียงประกอบด้วยฐานเขียง 5 ขั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวคว่ำกับท้องไม้ลวดบัวสี่เหลี่ยม เหนือลวดบัวขึ้นไปเป็นท้องไม้คาดด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น มีบันไดทุกด้าน
ฐานประทักษิณชั้นที่ 3 กว้างด้านละ 49.40 เมตร ทุกต้านเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ (เพิ่มมุม) ในฐานชั้นที่ 3 มีลักษณะเหมือนฐานชั้นที่ 2 โดยเริ่มจากระเบียงบนฐานประทักษิณชั้นที่ 3 ทุกมุมมีเสาหัวเม็ดยึดแนวระเบียงไว้ ชุดฐานด้านในระเบียงเริ่มต้นด้วยฐานเขียง 3 ชั้น เหนือฐานเขียงขึ้นไปเป็นบัวคว่ำ ถัดจากบัวคว่ำเป็นเส้นลวดต่อด้วยท้องไม้ บนระนาบของท้องไม้คาดด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ท้ายสุดเป็นหน้ากระดานบน มีบันไดทุกด้าน
ฐานประทักษิณชั้นที่ 4 กว้างต้านละ 32.40 เมตร ทุกต้านเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ (เพิ่มมุม) ระเบียงตั้งบนฐานประทักษิณชั้นที่ 4 ทุกมุมมีเสาหัวเม็ดยึดแนวระเบียงไว้ ภายในระเบียงมีพื้นที่สำหรับเดินประทักษิณกว้าง 4.50 เมตร (กรมศิลปากร สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา. 2545)

ฐานประทักษิณแต่ละชั้นยกเว้นชั้นที่ 1 มีระเบียง มีเสาหัวเม็ดประดับตามมุมย่อเก็จ และช่องบันได ตั้งบนฐานบัวคว่ำสลับหน้ากระดาน เป็นชั้นขึ้นไปตามลำดับอย่างสวยงาม ตรงกลางฐานทั้ง 4 ทิศ มีบันไดขึ้นไปจนถึงลานประทักษิณชั้นที่ 4 บันไดเริ่มจากพื้นดินไปสู่องค์เจดีย์ รวม 75 ชั้น หนึ่งสูง 20 เซนติเมตร ยาว 1.10 เมตร เฉพาะบันไดทิศตะวันออกเท่านั้น ที่เริ่มจากลานประทักษิณ ชั้นที่ 1 ตรงกลางลานประทักษิณชั้นที่ 4 เป็นอุโมงค์รูปโค้งเข้าไปข้างในองค์เจดีย์ มีพระพุทธรูปประดิษฐาน ๑ องค์
ฐานรากพระปรางค์ใหญ่กว้างยาว 50 วา ลึกถึงชั้นโคลน “โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาฯ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองทำพระปรางค์ใหญ่องค์ 1 ฐานไม้สิบสอง ด้านหนึ่งยาว 50 วา ขุดรากลึกลงไปถึงโคลนแล้ว เอาหลักแพทั้งต้นเป็นเข็ม ห่มลงไปจนเต็มที่แล้ว เอาไม้ซุงทำเป็นแระปูเป็นตาราง แล้วเอาศิลาแลงก่อขึ้นมาเกือบเสมอดิน จึงก่อด้วยอิฐ ในระหว่างองค์พระนั้นเอาศิลาก้อน ซึ่งราษฎรเก็บมาขายบรรจุลงไปจนเต็ม การก่อขึ้นไปได้ถึงชั้นทักษิณที่สอง ศิลาที่บรรจุข้างใน กดหนักลงไปจนและทรุดลงไปถึง 9 วา อิฐที่ก่อหุ้มข้างนอกนั้น ก็แตกร้าวรอบไปทั้งองค์ของนี้ไม่ทลายก็เพราะทรุดกลางกดกันลงไป พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาฯ ให้ขุดดินริมฐานพระชัณสูตรดู ก็พบหัวไม้แระระเบิดขึ้นมาหมด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ แลขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชพระกฐิน ผู้คนยังพรักพร้อมกันอยู่ให้ปักเสาหลักแพเป็นหลักมั่นกันข้างนอกให้แน่นหนา เป็นหลายชั้นกั้นฐานพระปรางค์ไม่ให้ดินถีบออกไป สิ้นไม้หลักแพหลายพันต้นแล้ว ก็จัดการก่อแก้ไขที่ทรุดหนักลงมาอีก 3 วา เห็นว่าจะแก้ไขไม่ได้แล้วก็เลิกการนั้นเสีย จึงทำแต่การอื่นต่อไป” (สุรเชษฐ์ แก้วสกุล, พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน. 2564)
ทั้งนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวไว้ในทํานองเดียวกันว่า วัดภูเขาทอง เป็นมหาเจดีย์สําคัญ ตั้งอยู่บนโคกซึ่งพื้นที่โดยรอบมีน้ำท่วมถึง ทั้งยังเป็นพื้นที่ยุทธภูมิครั้งสําคัญระหว่างกองทัพอยุธยา กับกองทัพพม่าทั้ง 2ยุคสมัยของการเสียกรุง ซึ่งในคราวสงครามสมัยก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกนั้น ได้มีการขุดคลองมหานาคเพื่อความสะดวกในการคมนาคม ระหว่างพระนครด้านแม่น้ําลพบุรีกับวัดภูเขาทองนี้มีการกล่าวถึงเจดีย์ภูเขาทองในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “ในปี พ.ศ. 2287 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามภูเขาทอง 6 เดือน จึงสําเร็จ” ต่อจากนั้นไม่พบหลักฐานว่ามีกษัตริย์พระองค์ใดโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและพระเจดีย์นี้อีกเลย (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2561)


หลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดนี้กลายเป็นวัดร้าง แต่พระเจดีย์ยังเป็นสถานที่สําคัญทางพุทธศาสนา หลังจากเสียกรุงเวลาล่วงมาอีกราว 63 ปี สุนทรภู่ได้มานมัสการ เมื่อปีขาล เดือน 11แรม 8 ค่ำ พ.ศ. 2373 ได้เขียนนิราศภูเขาทองบรรยายภาพวัด และพระเจดีย์ไว้ มีความดังต่อไปนี้
”ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์ แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก…”
(ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ: 2465: ออนไลน์)
กลอนนิราศของสุนทรภู่ ได้พรรณนาอย่างเห็นได้ชัด ว่าเจดีย์วัดภูเขาทองไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2499 ทางราชการได้บูรณะองค์พระเจดีย์โดยต่อเติมปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว โดยเฉพาะลูกแก้วทําด้วยทองคําหนัก 2,500 กรัม ซึ่งอาจจะเป็นความหมายว่า ได้บูรณะขึ้นในคราวฉลองพุทธศตวรรษที่ 25 แม้ว่าจะได้รับการบูรณะแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมองเห็นว่าเจดีย์มีลักษณะเอียงอยู่ ปัจจุบันบูรณะโดยทาสีขาว



พื้นปูอิฐรอบเจดีย์ประธาน
พื้นปูอิฐ รอบเจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นพื้นลานอิฐ มีลักษณะการปู 6 ชั้น ชั้นบนปูลายก้างปลาชั้นล่างปูด้วยอิฐขนาดใหญ่ แนวขอบสิ้นสุดของพื้นลานอิฐนี้จะปูด้วยอิฐตั้งสันด้านยาว ซึ่งจะห่างจากกำแพงแก้วประมาณ 1.2 เมตร ส่วนพื้นที่รอบฐานเจดีย์ประธาน เป็นพื้นปูอิฐยกระดับขนาดกว้าง 1.2 เมตร จากลักษณะดังกล่าวสันนิษฐานได้ 6 กรณี คือ เป็นพื้นลานอิฐสมัยแรกที่ใช้ปูพื้นโดยรอบเจดีย์ประธาน หรือเป็นพื้นปูอิฐชั้นรองก่อนปูพื้นอิฐลายก้างปลา
การบูรณะครั้งที่ 3 ก่อพอกจากฐานเดิมออกไปอีกประมาณ 50 เชนติเมตร เป็นฐานเพิ่มมุมกว้าง 32 เชนติเมตร เลียนแบบฐานเดิม ปรากฏดังที่เห็นในปัจจุบัน และมีร่องรอยการเสริมองค์เจดีย์บริเวณช่วงล่างของเรือนธาตุ ฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ด้านทิศตะวันออก แนวอิฐเพิ่มมุมได้ถูกรื้อออกไป แผนผังในปัจจุบันจึงมีลักษณะยกเก็จที่กึ่งกลางของด้าน ไม่ใช่ย่อมุม (เพิ่มมุม) ไม่สิบสองเหมือนด้านอื่นๆ
การบูรณะครั้งที่ 4 คือการบูรณะในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พอกเสริมฐานเจดีย์ให้กว้างขึ้น ถมดิน และทรายตามช่องว่างริมฐานประทักษิณจนถึงองค์เจดีย์
องค์เจดีย์ประธานเจดีย์
ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณชั้นที่ ๔ องค์เจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยมต่อด้วยฐานเชียงในผังเพิ่มมุม ช้อนลดหลั่นกันถัดขึ้นไป แนวการก่ออิฐขององค์เจดีย์ ต่อเนื่องมาจากฐานของการบูรณะครั้งที่ 1 ลดหลั่นกันเป็นขั้นเหมือนพีระมิด ทำให้เชื่อว่าองค์เจดีย์และฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยมของเจดีย์ก่อสร้างขึ้น งานบูรณะครั้งที่ 1 นี้ส่วนการเอียงขององค์เจดีย์ เกิดจากการทรุดตัวของอิฐบริเวณใต้ฐานประทักษิณ เนื่องจากมีช่องว่างภายใน หรือมีการลักลอบขุดหาสมบัติ ที่ฝังไว้ตามห้องกลุ่มบริเวณฐานเจดีย์ จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวลงมา และไม่ปรากฏเศรษฐกิจ หรือเศษปูนฉาบ ที่จะแสดงว่าจะดีได้เคยพังทลายลงมาเลย