ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 41: ภาษายาวี

          ยาวี” เป็นชื่อเรียกตัวอักษร ไม่ใช่ชื่อภาษา นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบาย คำว่า “ยาวี” หรือ “จาวี” ไว้ว่า เป็นคำจากภาษาอาหรับแปลว่าเป็นของชวา หรือคนชวา เพราะเมื่อมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปแสวงบุญที่เมกกะจะ ถูกขนานนามว่าเป็นพวกไปจาก “ชวา” เมื่อหะยีเหล่านี้เอาอักษรอาหรับมาใช้สำหรับเขียนภาษามลายูก่อน ทำให้คนมลายูเรียกอักษรเช่นนี้ว่า เป็นอักษรของพวกยาวีตามอย่างพวกอาหรับ

          ส่วนภาษาที่ชาวมุสลิมภาคใต้ใช้กันนั้น สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ระบุว่าเป็นภาษา “มลายูถิ่นภาคใต้” (ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า “นายู”) มีอยู่ 2 สำเนียงคือ สำเนียงฝั่งตะวันตกมีมลายูถิ่นสตูลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้ไม่มากนัก เนื่องจากชาวสตูลหันมาใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ส่วนอีกสำเนียงเป็นภาษามลายูถิ่นสำเนียงตะวันออก มีภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นศูนย์กลาง เป็นสำเนียงที่ใช้มากที่สุด ในภาคใต้ของประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกับภาษามลายูถิ่นกลันตัน และบางหมู่บ้านในรัฐตรังกานู อันเป็นรัฐทางตอนเหนือแถบฝั่งทะเลตะวันออก ของมาเลเซียในปัจจุบัน

          ผู้รู้อธิบายต่อไปว่า ภาษามลายูทั้งสองสำเนียงหลัก ที่ใช้ในภาคใต้ของไทย แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ผู้ใช้ภาษาทั้งสองสำเนียง สามารถสื่อสารกันได้ไม่ลำบากนัก ก็คงคล้ายกับผู้ใช้ภาษาไทยในถิ่นต่างๆ ที่มีสำเนียงต่างกัน แต่ก็ฟังกันเข้าใจ

ภาษามลายูถิ่นใต้ เป็นภาษาที่ไม่มีตัวเขียนเป็นของตัวเอง จึงรับเอาภาษาอาหรับมาดัดแปลง ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น การที่คนไทยเรียกภาษาที่ชาวมุสลิมภาคใต้ใช้สื่อสารอย่างผิดๆ โดยไปเอาชื่อตัวอักษรมาเรียกเป็นชื่อภาษาว่า “ยาวี” (ซึ่งคนทั่วไปคงไม่รู้ว่าหมายถึงชวา) จึงเหมือนต้องการปกปิดตัวตนความเป็นมลายูของมุสลิมภาคใต้อยู่ในที เพราะคนท้องถิ่นก็ไม่เรียกภาษาที่ตนพูดว่าเป็นภาษายาวีแต่อย่างใด

          อักษรยาวี เป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษามลายู โดยได้ดัดแปลงจากอักษรอาหรับ (อารบิก) นักปราชญ์คนหนึ่งของปัตตานี ชื่อ ชัยคฺ อะฮฺมัด อัล-ฟะฏอนีย์ ได้วางกฎเกณฑ์การใช้อักษรยาวี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเขียนภาษามลายูในท้องถิ่นนี้ ในอดีต โลกมลายูใช้อักษรยาวีมาช้านาน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้อักษรรูมี

          ปัจจุบันชาวมุสลิมในประเทศไทยที่พูดภาษามลายู นิยมใช้อักษรยาวีบันทึกเรื่องราวในศาสนา และการสื่อสารต่าง ๆ ส่วนนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จะเริ่มเรียนอักษรยาวีสำหรับอ่านเขียนภาษาอาหรับ (ภาษาในคัมภีร์อัลกุรอาน) ตั้งแต่ยังเยาว์ อักษรยาวียังคงใช้กันอยู่บ้างในมาเลเซียบรูไน และสุมาตรา

          คำว่า ยาวี นั้นมาจากคำว่า jawa หมายถึง ชวา นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะชาวชวาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในมะละกาและปัตตานี ได้นำอักษรอาหรับดัดแปลงมาเผยแพร่ และในที่สุดได้รับมาใช้ในชุมชนที่พูดภาษามลายูปัตตานีมาช้านาน เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีความสับสนในการเรียกชื่ออักษรยาวี และภาษามลายู

Scroll to Top