ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 39: โรตีมะตะบะ

          “มะตะบะ” เป็นแป้งทอดยัดไส้คาว หรือหวาน รูปทรงสี่เหลี่ยม แหล่งกำเนิดของมะตะบะไม่แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่า อาหารชนิดนี้แพร่หลายในสังคมวัฒนธรรมตามิล โดยเฉพาะในเมืองเคราลาในทมิฬนาดู หรือทางตอนใต้ของอินเดียในปัจจุบัน รวมถึงในสังคมวัฒนธรรมเยเมน ในภาษาอราบิกจะเรียกว่า “مطبق” (มุตาบัก) หมายถึง พับ เนื่องจากลักษณะของมะตะบะเป็นแป้ง ที่มีการโปะไส้ลง และพับเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มะตะบะเดินทางเข้ามาในดินแดนนุสันตรา และคาบสมุทรมลายูผ่านพ่อค้า และแรงงานตามิลมุสลิม โดยเรียกอาหารชนิดนี้ว่า Mutabar (มุตาบัร) โดยการรวมคำสองคำ ได้แก่ Muta หมายถึง ไข่ และ Bar หมายถึง แป้งปารัตตา แสดงให้เห็นถึงวัตถุดิบหลักของอาหารชนิดนี้ ลักษณะของมุตาบัรคล้ายคลึงกับอาหารท้องถิ่นเบงกาลีที่เรียกว่า Mughlai paratha (มุกลัย ปารัตตา)

          ชาวมุสลิมหมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง นิยมทำโรตีมะตะบะรับประทานกันในครอบครัว โดยเฉพาะทำเลี้ยงญาติพี่น้อง ในช่วงเดือนรอมฏอน หรือเดือนบวช ซึ่งเป็นเทศกาลถือศีลอดของชาวมูสลิม ที่จะรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญร่วมกับครอบครัว ในช่วงเวลาหลังจากที่พระอาทิตย์ตกดินแล้ว โรตีมะตะบะ สามารถทำได้ทั้งแบบอาหารคาว และของหวาน ถ้าเป็นอาหารคาวจะนิยมใส่เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว พร้อมด้วยเครื่องเทศนานาชนิด ทานคู่กับน้ำจิ้มอาจาด รสชาติจะออกเผ็ดเล็กน้อย ตามส่วนผสมที่เป็นเครื่องเทศหลากชนิด ถ้าทำเป็นของหวาน จะนิยมใส่กล้วยหอม นม และเนย บ้างใส่ฟักเชื่อม หรือในช่วงเดือนบวช มักจะใส่อินทผาลัมเข้าไปด้วย จะมีรสชาติหวาน หอม ตามแบบฉบับของขนมมุสลิม ทั้งนี้เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการถือศีลอด

Scroll to Top